น้องๆ อาจจะเคยได้ยินชื่อผู้กำกับดังหลายคนที่ประสบความสำเร็จในอาชีพโดยสร้างหนังได้เงินร้อยล้านจนถึงพันล้าน หรือสร้างซีรี่ส์ดังเปรี้ยงปร้างถึงต่างแดน หรือทำโฆษณาเก่งจนได้รับการยกย่องและรางวัลเจ๋งๆ จากองค์กรต่างประเทศ
แต่นั่นก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งหน้าฉากของอาชีพ "ผู้กำกับภาพยนตร์" เท่านั้น โดย สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้เปิดเผยข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้องถึงเรื่องรายได้ของ “ผู้กำกับภาพยนตร์” ว่า อาชีพนี้มีเส้นทางที่ไม่ได้สวยหรู มีความหลากหลาย และมีบางรายละเอียดที่คนนอกวงการอาจไม่เคยรู้มาก่อน
แหล่งข่าวผู้อยู่ในวงการภาพยนตร์ไทยมาหลายสิบปีรายหนึ่งให้ข้อมูลว่า ผู้กำกับภาพยนตร์ของเมืองไทย ยังไม่สามารถเลี้ยงชีพได้ด้วยการกำกับภาพยนตร์เพียงอย่างเดียว แต่ต้องทำงานอื่นควบคู่กันไปด้วย
“ส่วนใหญ่มักเป็นงานที่ใช้ทักษะหรือความรู้ในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน เช่น ผู้กำกับโฆษณา ผู้กำกับมิวสิกวีดิโอ ผู้กำกับละคร ไปจนถึงการเป็นอาจารย์หรือวิทยากร หรืองานอื่นๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เช่น ช่างภาพ ประสานงาน หรืองานในผ่านโพสต์โปรดักชั่น เป็นต้น”
ซึ่งรายได้ของผู้กำกับภาพยนตร์ สามารถแบ่งง่ายๆ ตามแหล่งทุนและตลาด เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
ผู้กำกับภาพยนตร์ที่ค่ายหนังออกทุนให้ และภาพยนตร์มักได้ฉายตามโรงทั่วไป ที่เรียกกันว่า “ผู้กำกับหนังแมส” โดยคำว่าแมส (mass) มาจาก mass communication คือการสื่อสารที่เข้าถึงผู้ชมหมู่มาก โดยปัจจุบัน มีค่ายหนังที่ผลิต “หนังแมส” ในเมืองไทยนับสิบ เช่น สหมงคลฟิล์ม, GTH (ปัจจุบันแยกตัวเป็น 2 บริษัท คือ GDH559 และ T-Moment), พระนครฟิล์ม, ไฟว์สตาร์, M39 ฯลฯ
ผู้กำกับอิสระที่หาแหล่งทุนด้วยตัวเอง โดยภาพยนตร์อาจได้ฉายตามโรงทั่วหรือไม่ก็ได้ แต่ส่วนใหญ่มักส่งไปฉายตามเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆ ที่เรียกกันว่า “ผู้กำกับหนังอินดี้” โดยคำว่าอินดี้ ย่อมาจากคำว่า independent film หมายถึง ภาพยนตร์ที่มีวิธีการทำงานเป็นอิสระจากค่ายหนัง
โดย
นายเกรียงไกร วชิรธรรมพร หนึ่งในผู้กำกับซีรีส์ Hormones วัยว้าวุ่น ของค่าย GTH ในฐานะอดีตผู้กำกับภาพยนตร์หลายเรื่อง เปิดเผยว่า
“ ค่าตัวของตนสมัยเป็นผู้กำกับหน้าใหม่ที่สหมงคลฟิล์ม เมื่อราว 5 ปีก่อน ได้อยู่ที่ 200,000-300,000 บาทต่อเรื่อง ส่วนตอนนี้หากเป็นผู้กำกับที่ GTH ก็อยู่ที่ 500,000 บาทต่อเรื่อง เป็นขั้นต่ำ ขึ้นอยู่กับการตกลงกับบริษัท แต่ละโปรเจกต์ก็ไม่เท่ากัน บางครั้งเราก็เสนอไป บางครั้งบริษัทก็เสนอจำนวนเงินมา หากไม่พอใจก็ต่อรองได้ แต่ส่วนตัวแล้วไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องเงิน ”
ถามว่ารายได้ของภาพยนตร์แต่ละเรื่องที่ปรากฏสู่สาธารณชน จะบ่งบอกถึงรายได้ของผู้กำกับเรื่องนั้นๆ ได้หรือไม่ เกรียงไกรตอบว่า
“ มันไม่มีผลในการขอเพิ่มค่าตัว แต่จะส่งผลในงานชิ้นต่อๆ มาที่ผู้จ้างอาจให้เงินสูงขึ้น แต่ในวงการผู้กำกับจะไม่มีรูปแบบตายตัวว่าจะต้องได้ค่าตัวในการกำกับเท่านี้ต่อเรื่อง เพราะไม่มีกฎหมายอะไรรองรับ ต่างกับในต่างประเทศที่มีการกำหนดเงินขั้นต่ำของผู้กำกับเอาไว้ ”
แม้ผู้กำกับภาพยนตร์ที่อยู่ภายใต้ค่ายหนังใหญ่จะมีรายได้หลักแสนบาทต่อเรื่องก็ตาม แต่คนเหล่านั้นก็มีเพียงแค่หยิบมือเดียว ส่วนใหญ่ต้องเริ่มไต่เต้าจากการทำภาพยนตร์อิสระ หรือหนังอินดี้ ที่ทั้งหาทุนและรายได้ด้วยตัวเองทั้งสิ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก: thaipublica.org