หน้าที่ของสถาปนิกกับโครงการก่อสร้างในยุคปัจจุบัน
ในรูปแบบการทำงานส่วนใหญ่ สถาปนิกจะทำสัญญากับเจ้าของโครงการ (Owner) โดยรับหน้าที่เป็นผู้ให้บริการวิชาชีพ ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการก่อสร้าง ผ่านทางการออกแบบ(Building Design) และการทำแเบบก่อสร้าง(Construction Document) สถาปนิกจะมีที่ปรึกษาผู้ให้คำแนะนำในเรื่องเทคนิคระดับซับซ้อนคือ วิศวกร ซึ่งจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละแขนงเกี่ยวกับการก่อสร้าง
นักวิชาชีพทั้งหมดนี้จะทำงานร่วมกันเป็นทีม ผ่านการประสานงานของสถาปนิก ซึ่งเป็นผู้นำของทีม (Team Leader) และผู้ติดต่อประสานงานระหว่างทีม (Coordinator)เพราะที่ปรึกษาอื่นๆ จะไม่มีใครเข้าใจภาพรวมของโครงการเท่าสถาปนิก
ด้วยสาเหตุของความเข้าใจในโครงการที่มากกว่าสมาชิกในทีมคนอื่นๆ ทำให้สถาปนิกเป็นผู้ที่ติดต่อกับเจ้าของโดยตรงในการทำโครงการ นักวิชาชีพในทีมคนอื่นๆ ที่ต้องการติดต่อกับเจ้าของมักจะทำผ่านสถาปนิก หรือในบางกรณีสถาปนิกจะไม่อนุญาตให้สมาชิกในทีมคนอื่นๆ ติดต่อกับเจ้าของโดยตรงเลย เพราะจะเป็นการเกิดความสับสนในระบบการประสานงานและปฏิบัติการ
ถ้านักวิชาชีพเหล่านี้ทำสัญญาการว่าจ้างกับสถาปนิก สถาปนิกจะมีสถาณภาพเป็นผู้นำของทีมออกแบบ (Leader) แต่ถ้านักวิชาชีพเหล่านี้ทำสัญญาโดยตรงกับเจ้าของ สถาปนิกจะมีสภาณภาพเป็นผู้ประสานงาน (Coordinator) โดยส่วนใหญ่สถาปนิกจะทำสัญญาว่าจ้างกับนักวิชาชีพเหล่านี้เพื่อจะได้เกิดการควบคุมคุณภาพและสั่งการโครงการได้สะดวก แต่ในบางกรณี สถาปนิกอาจจะต้องการหลีกเลี่ยงการทำสัญญากับนักวิชาชีพเหล่านี้ โดยเฉพาะถ้าเป็นโครงการที่ใหญ่เป็นพิเศษที่สถาปนิกต้องมีความรับผิดชอบสูงมาก อาจเกิดความเสี่ยงต่อการรับผิดชอบความเสียหาย (Liability)มากจนไม่คุ้มกับค่าบริการวิชาชีพที่จะได้รับ สถาปนิกจะแนะนำให้เจ้าของโครงการทำสัญญาโดยตรงกับนักวิชาชีพเหล่านั้น