กับโครงการบ่มเพาะและยกระดับ Deep Tech Startup แบบก้าวกระโดด
ธุรกิจประเภท Deep Tech Startup คืออีกกลุ่มที่สามารถสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจของประเทศ แต่ปัจจุบันพบว่าธุรกิจ startup ทั่วโลกมีเพียง 5% เท่านั้นที่สามารถไปต่อได้ เพราะธุรกิจประเภทนี้ต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงหรือความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการ และแผนธุรกิจต้องสามารถขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็วทันกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดและเทคโนโลยีที่มีความเฉพาะทาง
ด้วยเหตุนี้ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จึงมีแนวทางในการจัดทำ โครงการบ่มเพาะและยกระดับ Deep Tech Startup แบบก้าวกระโดด เพื่อเปิดโอกาสให้กับ Startup สายงานวิจัยเข้าร่วมกระบวนการบ่มเพาะเพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ เพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพการแข่งขันในเวทีโลก ตามนโยบายของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังที่มุ่งสู่การเป็น ‘ผู้นำนวัตกรรมระดับโลก’ The World Master of Innovation
รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า “สถาบันได้ดำเนินการในหลายด้านเพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของ startups ทั้งการประชาสัมพันธ์และอบรมผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ การให้คำปรึกษาด้านการลงทุน การวางแผนทางธุรกิจ ด้านกฎหมายและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเข้าร่วมกิจกรรม business matching ทั้งในและต่างประเทศ ในปีที่ผ่านมา สจล. ได้เปิดรับสมัคร Deep Tech Startup เข้ามาจำนวนทั้งหมด 28 startups และหลังจากได้มีการอบรมบ่มเพาะและให้คำปรึกษาแล้ว ปัจจุบันมี 5 startup ที่กำลังอยู่ในการดำเนินการจัดตั้งบริษัท คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 3 เดือนข้างหน้า และอีก 3 startup ที่กำลังอยู่ในระหว่างการประเมินเพื่อจัดตั้งบริษัท และนี่เป็นเครื่องยืนยันถึงความสำเร็จของโครงการและความสามารถของผู้เข้าร่วมโครงการทุกท่าน ซึ่งความสำเร็จของโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้การกำกับของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) รวมถึงวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญ เครือข่ายหน่วยงานที่ได้ร่วมกันดำเนินโครงการนี้ด้วยความตั้งใจและความมุ่งมั่น”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล รองผู้อำนวยการด้านกลยุทธ์วิจัย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า “บพข. ภายใต้การกำกับของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) พร้อมที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนทุนวิจัยและสร้างนวัตกรรม เพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ทำให้งานวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์ และโครงการนี้ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ บพข. เห็นความสำคัญในการที่จะช่วยส่งเสริมให้ Deep Tech Startup สามารถเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ลดความเสี่ยงต่อการขาดทุนและล้มเลิกกิจการ ให้โอกาสธุรกิจเหล่านี้สามารถสร้างรายได้ เป็นหนึ่งในผู้ที่สามารถสร้างมูลค่าให้เศรษฐกิจของประเทศต่อไป”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัชนี กุลยานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้ดูแลและดำเนินการโครงการฯ กล่าวว่า “สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยสำนักบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมพระจอมเกล้าลาดกระบัง (KMITL Research and Innovation Services: KRIS) เริ่มดำเนินการด้าน Incubation และ Acceleration ให้กับ Startup มีการแบ่งกลุ่มธุรกิจที่มีความพร้อมในระดับที่ต่างกันเข้าร่วมกิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับ Startup นั้นๆ ผนึกกำลังเสริมทัพแบบก้าวกระโดดให้กับธุรกิจ Startup แต่ละประเภท ด้วยการสอนวิธีและกระบวนการที่เหมาะสม บ่มเพาะธุรกิจ Deep Tech Startup ให้พร้อมทุกด้านทั้งในเชิงการวางแผนธุรกิจ วางแผนสภาพความคล่องด้านการเงิน แนะแนวทางออกของธุรกิจ Startup เช่น Exit Strategy, Spin-offs, การจัดการทรัพย์สินทางปัญญา รวมไปถึงการแนะนำและจับคู่ให้ธุรกิจ Startup กับนักลงทุนได้มาพบและร่วมเจรจาต่อรองการร่วมทุนอย่างเหมาะสม กิจกรรมภายในโครงการฯ ดังนี้
- กิจกรรม Deep Tech Bootcamp ระยะเวลา 3 เดือน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับ Startup ในการพัฒนาธุรกิจเข้าสู่ตลาด ในรูปแบบ Workshop, One-on-One และ Private Mentoring โดยผู้เชี่ยวชาญทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนที่มีความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ด้านต่างๆ ที่เหมาะสมกับธุรกิจ Startup แต่ละราย อาทิ ด้านการลงทุน ด้านการพัฒนาธุรกิจ การพัฒนาไอเดียในแง่มุมต่างๆ การสร้างมูลค่าและความเชื่อมั่นในแบรนด์ให้เกิดความน่าเชื่อถือ เป็นต้น
- จัดการเจรจาและพูดคุยกับภาคอุตสาหกรรม (Business Matching) ภายในประเทศ เพื่อสร้างกลไกการส่งเสริม Startup ให้มีความพร้อมด้านผลิตภัณฑ์หรือบริการ
- คัดเลือกธุรกิจ Startup ที่มีศักยภาพและมีแผนธุรกิจที่เหมาะสมเข้าร่วมกิจกรรม Business Matching ในต่างประเทศ 2 งาน ได้แก่ AsiaBerlin Summit 2023 ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมันนี และงาน Consumer Electronics Show 2024 (CES 2024) ที่ลาสเวกัส ประเทศสหรัฐอเมริกา
รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สจล. กล่าวทิ้งท้ายว่า “ภายใต้วิสัยทัศน์ The World Master of Innovation สจล. มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้จริงได้ นวัตกรรมเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจของประเทศ แต่ยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเราในเวทีโลก นวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้ จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับคนไทยทุกคน และในปัจจุบัน สถาบันได้มีการจัดตั้งบริษัท เคเอ็มไอที โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งทำงานร่วมกับ startup ต่างๆ เพื่อเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยพัฒนา ต่อยอดนวัตกรรมและนำไปสู่เชิงพาณิชย์ได้สำเร็จ”
รายชื่อผู้ประกอบการที่ร่วมในโครงการบ่มเพาะและยกระดับ Deep Tech Startup แบบก้าวกระโดดอาทิ
1. K1 - ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ รักษาโรคพืช
2. K2 - Graphene
3. K3 - Electron Plus - วงจรอัจฉริยะสำหรับการสร้างความร้อนและความเย็น
4. K4 - eVTOL (Vertical Takeoff Drone) - โดรนของ อ เสริม IAAI
5. K5 - STEMLab - ห้องเรียนด้าน STEM และบทเรียนสำหรับนักเรียนมัธยม
6. Glisten - ผลิตภัณฑ์กระเป้า และสิ่งตกแต่งบ้านจาก เศษเหลืออุตสาหกรรม (ฟิล์ม wrap รถ)
7. Egg-E-Egg - เครื่องวัดคุณภาพไข่ว่า fertized รึยัง
8. MeLog - ระบบ logistics สำหรับการขนส่ง
9. Manee Lab - IP Core Channel Coding
10.MedStream Innovations : Organ-On-Chip Model Blood-Brain-Barrier
11.Ittiyarom : หินหอมรึไซเคิล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Email: kris@kmitl.ac.th
Tel: 086-825 5420
ประชาสัมพันธ์โดย : PIMDAWAN
วันที่ลงข่าว : 30-07-67