ในชีวิตการทำงาน นอกจากความสุขกายและสบายใจในระหว่างทำงานแล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าอีกสิ่งสำคัญที่มีผลต่อชีวิตคนเรามากอีกอย่าง คือได้รับค่าตอบแทนที่คุ้มกับการแรงกายที่ลงไป รวมทั้งการมีเงินเก็บสำหรับใช้ชีิวิตต่อไป แต่ก็ยังมีคนอีกไม่น้อยที่ไม่ว่าจะหาเงินได้มากเท่าไหร่ แต่ก็ยังไม่สามารถมีเงินเก็บตามที่หวัง แถมยังเป็นหนี้จากการใช้จ่ายอีกต่างหาก
ดังนั้น บทความนี้เราจึงมี
5 นิสัยที่อาจทำให้คุณเป็นหนี้ท่วมหัวได้ หากใครที่กำลังมีพฤติกรรมตามนี้ ขอแนะนำให้รีบปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้เงิน รวมทั้งมาเริ่มจัดระเบียบวินัยในการใช้เงินอย่างจริงจัง ไม่อย่างนั้นคุณอาจจะมีหนี้ท่วมหัวโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้ เพราะมันไม่ใช่เรื่องง่ายในการที่จะหาเงินได้ ก็ต้องใช้เงินให้คุ้มค่าที่สุดใช่มั้ยล่ะ
นิสัยที่ 1 เอา "ค่าใช้จ่าย" เป็นเรื่องสุดท้าย
หากคุณเป็นคนที่คิดจ่ายเงินเพื่อเรื่องอย่างอื่นก่อนคิดถึงเรื่องการจ่ายหนี้และการออม เช่น คิดถึงเรื่องการเดินห้าง การช็อปปิ้งก่อน และเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ กว่าการตามจ่ายหนี้ทีหลัง พอใกล้วันที่ต้องจ่ายหนี้ก็ต้องมานั่งหาเงินจนหัวหมุนหัวปั่นก็น่าเป็นห่วง โดยวิธีแก้ปัญหานี้ ก็คือ เราจะต้องจัดลำดับการใช้จ่ายใหม่ให้ถูกต้อง โดยเก็บเงินสำหรับการออมก่อนและจ่ายในเรื่องการดำรงชีวิตก่อนอย่างอื่น ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ คือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเป็นประจำที่เราสามารถประมาณหรือรู้อยู่แล้ว เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าประกันชีวิต ค่าผ่อนรถ แล้วก็หนี้ค่าบัตรเครดิต ส่วนการช็อปปิ้งเป็นเรื่องที่ไม่ต้องมีในรายจ่ายก็ว่าได้ หากทำไม่ได้จริงๆ ก็ใช้สติก่อนซื้อและซื้อเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
นิสัยที่ 2 ไม่วางแผน "งบประมาณ" ในการใช้จ่าย
หลายคนที่ไม่วางแผนการใช้เงิน ไม่ทำบัญชีรายรับรายจ่าย ไม่จดรายการจ่ายทุกครั้งที่ซื้อของ รวมถึงค่ากินอยู่ ค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน ทำให้ไม่รู้ว่าเงินแต่ละบาทที่เสียไปมีอะไรที่เสียโดยเปล่าประโยชน์บ้าง วิธีแก้ไขง่ายๆ คือ พยายามหาทางอุดรอยรั่วของกระเป๋าเงินคุณให้ได้ โดยการทำบันทึกการใช้จ่ายในแต่ละวัน รวมถึงแบ่งเงินใช้จ่ายในแต่ละอาทิตย์ หรือแบ่งตั้งแต่ต้นเดือน แล้วพยายามใช้ให้ได้ตามตารางนั้น เชื่อเถอะว่าเริ่มต้นแบบนี้ไม่ยากเกินไป พอคุณเริ่มทำไปทีละเดือน จะรู้ได้ทันทีว่าเงินของคุณไปอยู่ไหนบ้าง และจะทำให้รู้สึกอยากเก็บเงิน อยากมีเงินเหลือเพื่อที่จะเก็บออมได้มากขึ้นอีกด้วย
นิสัยที่ 3 ไม่เตรียมตัวสำหรับ "อนาคต" หรือ "รายจ่ายฉุกเฉิน"
เชื่อว่าหลายๆ คนที่เพิ่งเริ่มทำงานหรือยังอายุน้อยอาจคิดว่าแค่มีเงินให้พอใช้จ่ายในแต่ละเดือนก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากแล้ว ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการวางแผนเก็บเงินไว้ใช้ในยามฉุกเฉินหรือสำหรับวางแผนอนาคต แต่อย่าลืมว่าชีวิตเรา "ความแน่นอน" คือ "ความไม่แน่นอน" ในแต่ละวันอาจจะเกิดเหตุการณ์ที่คุณไม่คาดฝันได้ เพราะฉะนั้นจึงควรมีเงินเก็บสำรองเตรียมไว้ โดยออมเงินในแต่ละเดือนซักนิดกันไว้ หรือจะนำเงินไปซื้อประกันต่างๆ เพื่อเป็นการลดทอนความเสี่ยงลงก็ได้ เพราะการเตรียมตัวและเตรียมตั้งรับทุกอย่างจะทำให้เรามั่นใจและสบายใจได้ว่า จะมีเงินสำรองจ่ายได้โดยไม่ต้องหัวหมุนทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น
นิสัยที่ 4 ซื้อของทุกอย่างด้วยบัตรเครดิต
หากคุณเป็นคนที่ไม่ค่อยควักเงินสดออกจากกระเป๋าเลย ก็ตอนนี้มันโลกยุคดิจิทัลอ่ะนะ ไม่แปลกที่เราจะสามารถจ่ายทุกสิ่งด้วย App ธนาคาร E-Wallet หรือ บัตรเครดิต แต่ขอเตือนเลยว่าอันตรายต่อสภาพการเงินมาก เพราะคุณจะไม่รู้สึกตัวเลยว่าจ่ายไปเท่าไร และอาจจะเพลินกับการรูดบัตรเครดิต การกดเงินผ่านแอพฯ ซื้อของออนไลน์ แนะนำว่าควรมีสติมากๆ และให้เปลี่ยนวิธีการจ่ายทุกอย่างด้วยบัตรเครดิตมาเป็นเงินสดแทน แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้บัตรเครดิตจริงๆ ตอบที่ใบเรียกเก็บเงินออกมาตอนสิ้นเดือน ท่านจะต้องจ่ายเต็มจำนวนทุกครั้งเท่านั้น เพราะหากจ่ายแบบขั้นต่ำ นอกจากเงินต้นแล้ว ดอกเบี้ยบัตรเครดิตก็ไม่น้อยเลย ซึ่งอาจจะทำให้ท่านมีปัญหาไม่สามารถชำระได้และเป็นภาระไปอีกนาน
นิสัยที่ 5 โอนหนี้บัตรเครดิตไปบัตรอื่น
หลายๆ คนอาจเคยทำและคิดว่าจะเป็นวิธีที่ดี แต่รู้ไหมว่า นั่นเป็นการเปิดโอกาสให้คุณสร้างหนี้เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว วงเงินที่ใช้ได้มากขึ้น ถ้าคุณไม่มีวินัยในการใช้จ่ายเงินหรือยับยั้งใจตัวเองไม่ได้ ขอแนะนำว่าอย่าทำแบบนั้นจะดีกว่า ให้พยายามจ่ายหนี้ก้อนนี้ให้มากขึ้น วิธีการแก้คือ หาเงินเพิ่ม ทำงานพิเศษ และพยายามจ่ายทุกอย่างเป็นเงินสด โดยใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นจะเป็นการดีที่สุด
ที่มา :
www.thansettakij.com