ขณะนี้ประดาอาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัยแทบจะทุกแห่งต่างประสบปัญหาไม่มีนักศึกษาเพียงพอ ล่าสุดมีข่าวออกมาว่ามหาวิทยาลัยไทยมีที่นั่งว่างสำหรับระดับปริญญาตรีถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นที่นั่ง แต่มีนักเรียนเข้ามาเรียนเพียงแปดหมื่นคน แสดงว่ามีอุปทานส่วนเกิน (Over Supply) ถึงหกหมื่นคนต่อปี และในระดับประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษามีที่เรียนว่างรวมกว่าแปดแสนที่ (เมื่อไม่มีนักเรียนแล้วจะมีนิสิตนักศึกษาได้อย่างไร)
ภาวะดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อระดับบัณฑิตศึกษาด้วยโดยจำนวนนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาก็ลดลงเช่นเดียวกัน และทำให้ในหลายๆ มหาวิทยาลัยประสบปัญหาภาระงานขั้นต่ำไม่เพียงพอ เนื่องจากมีนักศึกษาไม่ครบจำนวนที่จะเปิดการเรียนการสอนและนับเป็นภาระงานขั้นต่ำได้
ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็มีรายได้ลดลงไปมาก ส่งผลให้แทบทุกแห่งต้องลดมาตรฐานในการคัดเลือกนักศึกษาลงไป เมื่อลดมาตรฐานการคัดเลือกนักศึกษาลงไปเพราะไม่มีตัวเลือกที่ดีให้คัดเลือกก็ส่งผลให้คุณภาพการศึกษาตกต่ำลงไปด้วย เมื่อปริมาณนักศึกษาลดลงรายได้ของมหาวิทยาลัยก็ลดลงไปด้วยตามลำดับ แม้กระทั่งปริญญาโททางบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยดังแห่งหนึ่งซึ่งเปิดหลักสูตรสำหรับผู้บริหารและเคยมีชื่อเสียงโด่งดังมากจนต้องแย่งกันเข้าปัจจุบันรับนักศึกษาได้ไม่เข้าเป้าเพียงปีละสิบกว่าคนและโครงการดังกล่าวก็ขาดทุนอยู่มากจนอาจจะต้องปิดโครงการลง
น่ากลัวว่าอุดมศึกษาไทยจะไปไม่รอดในระยะเวลาไม่เกินสิบปีต่อจากนี้ไป หลายมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชนจำนวนมากปรับตัวด้วยการรับนักศึกษาจากประเทศจีนซึ่งมีที่นั่งในมหาวิทยาลัยไม่เพียงพอกับความต้องการของนักเรียนและมีการแข่งขันสูงมากเนื่องจากทางการจีนไม่อนุญาตให้มีการเปิดมหาวิทยาลัยเอกชน และไม่เน้นผลิตบัณฑิตระดับอุดมศึกษามากนักจนทำให้มีความต้องการเดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศ อย่างไรก็ตามนักเรียนจีนระดับหัวกะทิและ/หรือมีฐานะทางเศรษฐกิจดีก็จะไปศึกษาต่างประเทศในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศในยุโรป สหรัฐอเมริกา แม้กระทั่งออสเตรเลียหรือนิวซีแลนด์ ส่วนนักศึกษาจีนที่มาศึกษาในประเทศไทยนั้นเพราะประเทศไทยมีค่าครองชีพและค่าเล่าเรียนที่ถูกกว่าประเทศจีนมาก เราจึงไม่ได้นักศึกษาจีนที่มีคุณภาพดีเท่าที่ควร
สาเหตุที่อุดมศึกษาไทยถึงทางตีบตันนั้นมีหลายประการ
ประการแรก ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างเต็มตัว อัตราการเกิดของประชากรไทยนั้นต่ำมากและต่อไปจะต่ำกว่าอัตราการตาย ถ้าเราสังเกตให้ดีเราจะพบว่าจำนวนประชากรไทยนิ่งๆ ที่ 65 ล้านคนมาเกือบ 15 ปีแล้ว มีคนสูงอายุมากขึ้นและมีเด็กเกิดลดลงไปมาก จนน่าใจหาย รัฐบาลควรต้องส่งเสริมการแต่งงานและการมีบุตรด้วยมาตรการทางภาษีและสวัสดิการสังคมเพิ่มขึ้น ผลกระทบดังกล่าวเห็นแล้วได้ชัดเจนทำให้มหาวิทยาลัยต่างๆ มีที่นั่งเหลือมากมาย เมื่อไม่มีเยาวชนที่ต้องการเข้ามหาวิทยาลัยมากเช่นในอดีตทำให้การแข่งขันลดลง มีที่ว่างมากขึ้น คุณภาพในการคัดเลือกก็ลดลงด้วย
ประการที่สอง ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยจำนวนมาก ขณะนี้หากรวมทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐ เอกชน สถาบันราชภัฎ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาลัยพละศึกษา วิทยาลัยเกษตร สถาบันอุดมศึกษาที่มีภารกิจเฉพาะ อาจจะมีจำนวนมากถึงสามร้อยกว่าแห่ง มีการแข่งขันกันเปิดหลักสูตรเป็นจำนวนมาก ทั้งหลักสูตรภาคปกติ ภาคค่ำ ภาคสมทบ ภาคพิเศษ ภาคอินเตอร์ มีการเปิดหลักสูตร ปริญญาตรี-โท-เอก กันเต็มไปหมด หลักสูตรแปลกๆ ที่เราไม่คิดว่าจะได้เห็นก็ได้เห็น ทุกแห่งพยายามขายสินค้าหรือหลักสูตรที่จะดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาเรียนด้วยคุณลักษณะเด่นที่แตกต่างกันไป บางแห่งเน้นคุณภาพ บางแห่งเน้นไปที่จ่ายครบ จบง่าย เรียนสนุก แม้ว่าจะมีหน่วยงานกำกับดูแลมาตรฐานแต่ก็เป็นการเกาไม่ถูกที่คันเนื่องจากกฎระเบียบต่างๆ ที่ออกมาบังคับใช้นั้นพยายามใช้หลักเกณฑ์เดียวกันหมดในทุกสาขาวิชา เน้นไปที่การกำกับดูแลกระบวนการโดยไม่ได้ดูที่สิ่งนำเข้าหรือผลลัพธ์แต่อย่างใดเลย ทำให้สาขาวิชาหรือสถาบันอุดมศึกษาที่พยายามทำดีหรือมีคุณภาพดีอยู่แล้วกลับแย่ลงเนื่องจากเกณฑ์มาตรฐานบังคับใช้เหมือนกันไปหมดทุกสาขาเปรียบเสมือนยาเคมีฆ่าเซลล์มะเร็ง (Chemotherapy) ที่ทำลายเซลล์เนื้อร้ายมะเร็งและทำลายเซลล์ดีๆ ไปด้วยในเวลาเดียวกัน
ปัญหาใหญ่ที่สุดคือประเทศไทยในขณะนี้มีจำนวนมหาวิทยาลัยมากเกินไปกว่าความต้องการเสียแล้ว ที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือมีบัณฑิตในบางสาขาตกงานมากมาย เช่น ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ซึ่งเปิดสอนกันแทบทุกสถาบันในประเทศไทย แต่บริษัทเอกชนกลับหาคนมาทำงานด้าน Computer ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและต้องการคนเก่งคนมีความรู้ความสามารถอีกมากได้ยากมาก บัณฑิตด้าน computer sciences จำนวนมากจากหลายสถาบันไม่สามารถเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานได้จริงได้เลย หรือในอีกด้านเราผลิตคนที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดและมีคุณภาพไม่เพียงพอ สรุปง่ายๆ คือเรามีปริมาณมากแต่มีคุณภาพไม่เพียงพอ ไม่ตรงกับความต้องการของประเทศ ทำให้เราพบว่ามีบัณฑิตระดับปริญญาตรีไปเป็นพนักงานขายของตามร้านสะดวกซื้อหรืออื่นๆ ที่ใช้เพียงวุฒิการศึกษามัธยมศึกษาปีที่สาม ก็ทำงานนี้ได้
ประการที่สาม การไปศึกษาต่อต่างประเทศสมัยนี้ไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใดและคนไทยมีฐานะดีขึ้นจนไปศึกษาในต่างประเทศได้โดยง่าย ทำให้มีนักเรียนนักศึกษาไทยไปศึกษาต่อในต่างประเทศตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา ปริญญาตรี หรือ ปริญญาโท มากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศที่พัฒนาแล้วนั้นแทบทุกประเทศต่างก็มีปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ทำให้ในประเทศนั้นๆ มีนักศึกษาเก่งๆ ไม่มากนัก ทำให้จำเป็นต้องหานักศึกษาจากต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกมาเปิดสาขาในประเทศเพื่อนบ้านของเรา เช่น สิงคโปร์ เป็นจำนวนมาก ที่สำคัญเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้เกิดการศึกษาออนไลน์ การศึกษาต่อเนื่อง ทั้งแบบที่ได้รับปริญญา และแบบที่ไม่ได้รับปริญญา (Non-degree program) มากขึ้นเรื่อยๆ
ประการที่สี่ การศึกษาของไทยไร้ทิศทาง ประเทศไทยไม่ได้ต้องการ บัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต มากมายอะไรขนาดนี้ ในขณะที่ประเทศยังไม่ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง (Middle income trap) ที่ประเทศไทยขาดแคลนจริงๆ กลับเป็นอาชีวะศึกษาซึ่งคนไทยไม่นิยมเรียนด้วยค่านิยมปริญญากระดาษแผ่นเดียว ในขณะที่เราผลิตบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตสายสังคมศาสตร์ ออกมาล้นมากมาย แต่สายวิชาเช่น วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี แพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ ซึ่งล้วนขาดแคลนอย่างหนัก โดยเฉพาะพยาบาลกลับผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของประเทศและจะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ประเทศไทยไม่มีแผนยุทธศาสตร์อุดมศึกษาและไม่ได้ดำเนินตามหลักการดังกล่าว มหาวิทยาลัยต่างๆ ล้วนแล้วแต่ผลิตคนสายสังคมศาสตร์ที่เร่งผลิตได้ง่าย ใช้ต้นทุนไม่สูง และคนก็แห่มาเรียนกันเฉพาะสายสังคมศาสตร์จนเกินความต้องการ เป็นเพียงค่านิยมปริญญามากกว่าจะผลิตคนที่มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาประเทศได้อย่างแท้จริง ทำให้ปริญญาไม่ว่าจะตรีหรือโท หรือรวมไปถึงเอกจากหลายๆ ที่ไม่มีคุณค่า ไม่สามารถประกันได้ว่าบัณฑิต มหาบัณฑิตและ ดุษฎีบัณฑิตจะสามารถทำงานได้จริง ทำให้หลายๆ หน่วยงานในภาคเอกชนเริ่มขยับเข้ามาผลิตบัณฑิตและมหาบัณฑิตกันเองเพื่อให้ตรงตามกับความต้องการ
ขณะนี้หลายมหาวิทยาลัยของไทยกำลังขาดทุนและไม่อาจจะอยู่รอดได้จนอาจจะต้องเลิกกิจการในระยะเวลาอันใกล้ บางมหาวิทยาลัยต้องปรับตัวโดยแบ่งที่ดินผืนงามจัดสรรสร้างคอนโดมิเนี่ยมเพื่อหารายได้ และลดขนาดองค์กรลง ปัญหาข้างต้นเหล่านี้สมทบเพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ และต่อไปยิ่งจะแย่ลง ผู้เขียนมีความเห็นส่วนตัวว่าภายในสิบปีนี้จะมีมหาวิทยาลัยหลายแห่งต้องเลิกกิจการเพราะขาดทุนจนอยู่ไม่ไหว (ในปัจจุบันโรงเรียนเอกชนก็เลิกกิจการไปมากมาย เพราะที่นั่งในโรงเรียนของรัฐนั้นมีล้นเกินความต้องการอยู่แล้ว) ดังนั้นมหาวิทยาลัยไทยคงต้องปรับตัวกันอีกมาก ทางออกในการปรับตัวที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในอนาคตได้แก่
1.ยุบเลิกมหาวิทยาลัยที่ไม่มีคุณภาพหรือขาดทุนมากเพราะถึงอย่างไรก็ไม่มีทางคุ้มทุน อาจจะต้องมีการควบรวมกิจการ (Merger and Acquisition) ของมหาวิทยาลัยเอกชน ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ควรเข้ามาแก้ปัญหาโดยการยุบรวมมหาวิทยาลัยของรัฐเอง โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่มีขนาดเล็ก ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ใช้ทรัพยากรร่วมกันมากขึ้น ทำให้มหาวิทยาลัยต่างๆ มีความเข้มแข็งมากขึ้น ในอดีตที่ผ่านมานักการเมืองมีส่วนผลักดันให้เกิดมหาวิทยาลัยในแทบทุกจังหวัดของประเทศไทย แต่ปัจจุบันมีสถาบันที่สอนระดับอุดมศึกษาไม่ต่ำกว่าสองร้อยแห่ง ซึ่งมากเกินไปสำหรับประเทศไทยซึ่งจริงๆ แล้วไม่ควรมีสถาบันอุดมศึกษาเกินกว่าจำนวนจังหวัดของประเทศเสียด้วยซ้ำไป ทางออกนี้อาจจะเจ็บปวดสำหรับสถาบันอุดมศึกษาบางแห่งแต่ก็มีความจำเป็นต้องทำ และควรมีนโยบายห้ามเปิดสถาบันอุดมศึกษาเพิ่มอีกต่อไปแล้ว กระทรวงศึกษาธิการควรเร่งพิจารณาควบรวม ยุบ ให้สถาบันอุดมศึกษาที่อ่อนแอ ขนาดเล็ก ไม่ได้มาตรฐาน รวมกันให้ เข้มแข็ง มีขนาดใหญ่ขึ้น และมีมาตรฐานดีขึ้น
2. ประเทศไทยจำเป็นต้องมีแผนการศึกษาแห่งชาติ กำหนดทั้งปริมาณและคุณภาพ ในการผลิตบัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต ให้ตรงกับความต้องการ สาขาใดที่มีบัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต ล้นเกินความต้องการและไร้คุณภาพก็ควรค่อยๆ ลดจำนวนลงไปและปิดไปเพื่อให้เกิดความสอดคล้องระหว่างอุปสงค์กับอุปทาน ไม่ปล่อยให้แข่งกันผลิตเพื่อหารายได้ ขายปริญญากันจนเกร่อ เกินความต้องการที่แท้จริงของประเทศในบางสาขาโดยเฉพาะในสาขาสังคมศาสตร์ แม้ในสังคมศาสตร์สาขาที่เรียนยากหน่อยเช่น การบัญชี ก็มีคนเรียนน้อยและขาดแคลนทั้งๆ ที่เป็นวิชาชีพและมีรายได้ดีพอสมควร กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ) สมควรยกเลิกการปล่อยกู้ยืมทางการศึกษาสำหรับสาขาวิชาที่ไม่มีความจำเป็น มีมากพอ มีล้นความต้องการของตลาด และควรพิจารณาให้กู้ยืมตามจำนวนเงินเดือนหรือศักยภาพที่แต่ละคนจะได้รับเงินเดือน หากนักเรียนนักศึกษาสาขาวิชาใดสถาบันใดที่จะมีรายได้ดีหลังสำเร็จการศึกษา เป็นสาขาวิชาขาดแคลนและจำเป็นสำหรับประเทศชาติ ก็ควรจะให้กู้ยืม เช่น สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ ซึ่งขาดแคลนอย่างหนัก ส่วนสาขาที่ไม่ขาดแคลน เช่น รัฐศาสตร์ ก็ไม่ควรให้กู้ยืม เป็นต้น
3. มหาวิทยาลัยต้องลดการพึ่งพารายได้จากการเรียนการสอนลงไป แต่เน้นไปที่การทำงานวิจัยที่นำไปสู่การพัฒนาประเทศและสามารถนำนวัตกรรม งานวิจัย มาผลิตและสร้างรายได้ และ/หรือ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ มหาวิทยาลัยต้องเน้นรายได้จากการวิจัยที่สร้างนวัตกรรมและนำไปสู่เชิงพาณิชย์ (Commercialization) ออกมาทำใช้ได้จริง ส่งออกได้จริง ลดต้นทุนได้จริง นำพาประเทศก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งรายได้สำคัญของมหาวิทยาลัยด้วย มหาวิทยาลัยโดยเฉพาะในระดับบัณฑิตศึกษาต้องรับนักศึกษาให้ลดลงแต่มีคุณภาพเข้มข้น ขณะเดียวกันอาจารย์มหาวิทยาลัยต้องหาเงินทุนวิจัยได้มากจากภาคเอกชนเพื่อนำมาจ้างนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาในการเรียน ทำงานวิจัยช่วยอาจารย์ สร้างทั้งคนและสร้างทั้งงานที่ช่วยในการพัฒนาประเทศ นักศึกษาจะต้องเป็นทรัพยากรของมหาวิทยาลัย
4. มหาวิทยาลัยต้องเร่งพัฒนาหลักสูตรในลักษณะของสหกิจศึกษา โดยให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การฝึกงาน การตั้งโจทย์การวิจัย มีหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาแห่งหนึ่งที่ผู้เขียนได้ทราบมาว่าอาจารย์ในหลักสูตรจะเดินสายพบภาคเอกชนในอุตสาหกรรมเพื่อหาโจทย์การวิจัยและทุนวิจัย พร้อมให้หน่วยงานนั้นๆ ส่งนักศึกษามาเรียนในหลักสูตร และนำปัญหาโจทย์การวิจัยนั้นๆ ให้นักศึกษาที่หน่วยงานนั้นๆ ส่งมาเรียนทำเป็นวิทยานิพนธ์จนสำเร็จการศึกษา ซึ่งเป็นวิธีการที่ได้ประโยชน์ทุกฝ่าย หน่วยงานได้คนมีความสามารถตรงตามที่ต้องการ หน่วยงานได้ know how ไปใช้ในการแก้ปัญหา อาจารย์ได้โจทย์การวิจัยที่นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้จริง นำไปสู่การสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นักศึกษาได้ทุนมาเรียน ได้มาเรียนรู้ที่ทำให้ทฤษฎีได้ปะทะกับการปฏิบัติอย่างแท้จริง
5. มหาวิทยาลัยไทยต้องเน้นไปที่การศึกษาต่อเนื่องและการฝึกอบรมวิชาชีพ ที่แก้ไขปัญหาในการทำงานให้หน่วยงานต่างๆ มากขึ้น และต้องไม่ใช่งานฝึกอบรมประเภทฉาบฉวย ที่ไม่ก่อให้เกิดทักษะ ความรู้ ความสามารถ ที่ดีขึ้นของบุคลากร แต่ต้องเป็นการฝึกอบรมหรือการศึกษาต่อเนื่องที่ทำให้พนักงานและคนไทยมีความรู้ทักษะ ความสามารถในการทำงานได้ดีขึ้นจริง ทั้งนี้ตลาดด้านนี้ยังเปิดกว้างกว่าตลาดนักศึกษาระดับเยาวชนเนื่องจากเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวแล้ว
ทั้งหมดนี้อาจจะเป็นแนวทางออกสำหรับวิกฤติอุดมศึกษาไทยได้บ้างเป็นบางส่วน แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลยไม่เกิน 5-10 ปีนี้คงได้เห็นความล่มสลายในไม่ช้า โดยจะมีมหาวิทยาลัยที่ต้องปิดตัวลงไปเพราะขาดทุนเป็นจำนวนมาก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
manager online